เมื่อวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2563 นายบรรเจิด กลิ่นจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 1 มอบหมายให้นายวลี มีภู่ ผู้อำนวยการกลุ่มอำนวยการ เป็นผู้แทนร่วมกิจกรรมส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณี และนำคณะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งในประจำการและนอกประจำการ ร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงทางพราหมณ์ สมโภช ๑๐๐๐ ปี หลักเมืองเพชรบูรณ์ ในงานสมโภชเสาหลักเมือง 1,000 ปี เพชรบูรณ์ โดยมีนายณรงค์ จันทร์เชื้อ และนายสมชาย เผือกสกุลชัย ข้าราชการบำนาญ เป็นผู้นำในการดำเนินการ
อนึ่ง งานสมโภชเสาหลักเมือง 1,000 ปี เพชรบูรณ์นี้ เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ได้ร่วมกับ สภาวัฒนธรรมเทศบาล มูลนิธิศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์และ พุทธศิลป์ธรรมสมาคมผู้เสียสละเพชรบูรณ์ ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 ถึง 24 พฤศจิกายน 2563 รวม 9 วัน 9 คืน ณ บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ โดยในวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่สองของงาน และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 1 ได้รับเกียรติให้นำคณะบุคลากรร่วมประกอบพิธีบวงสรวงทางพราหมณ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีสมโภชเสาหลักเมือง 1,000 ปี ด้วย
สำหรับงานสมโภชเสาหลักเมือง 1,000 ปี เพชรบูรณ์ เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ได้ร่วมกับ สภาวัฒนธรรมเทศบาล มูลนิธิศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์และ พุทธศิลป์ธรรมสมาคมผู้เสียสละเพชรบูรณ์ จัดงานดังกล่าว ขึ้นระหว่างวันที่ 16 ถึง 24 พฤศจิกายน 2563 รวม 9 วัน 9 คืน ณ บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเป็นจุดรวมใจรวมศรัทธาของคนเพชรบูรณ์ ภายในงานยังได้จัดให้มีการจำหน่ายสินค้า OTOP การแสดงมหรสพ คอนเสิร์ตจากศิลปินหลายค่าย

ทั้งนี้ จากการสืบค้นประวัติเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ จากการบันทึกการขึ้นทะเบียนโบราณสถานโบราณวัตถุของกรมศิลปากรสันนิษฐานได้ว่าศิลาจารึกนี้ ครั้งแรกน่าจะถูกนำมาจากเมืองโบราณศรีเทพ มาไว้ที่วัดมหาธาตุก่อนหลังจากนั้นก็ได้นำมายกเป็นเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ โดยหลวงนิกร เกียรติคุณ เมื่อพ.ศ. 2443 โดยได้เลือกนำมาปักไว้ที่ป้อมกำแพงเมืองโบราณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแนวกำแพงเมืองโบราณเพราะเป็นบริเวณที่อยู่หน้าศาลากลางจังหวัด ต่อมาเมื่อพ.ศ. 2548 มีการปรับปรุงก่อสร้างอาคารศาลหลักเมืองครั้งใหญ่ได้มีการค้นพบว่าเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ เป็นศิลาจารึกทำด้วยแท่งเสาหินทรายสีเทา มีลักษณะปลายป้านโค้งมนมีความสูงจากฐานล่างถึงปลายยอด 184 เซนติเมตรกว้าง 30 เซนติเมตร ความหนาประมาณ 15 ถึง 16 เซนติเมตร ปลายฐานด้านล่างสุดมีลักษณะแผ่ขยายออกคล้ายวงกลมแบน กรมศิลปากรได้ทำการอ่าน และ แปลศิลาจารึกเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ สรุปได้ความว่า เป็นการจารึกลงในเสาหินใน 2 ยุคด้วยกัน คือครั้งแรกเป็นการจารึกในด้านที่ เป็นอักษรขอมโบราณภาษาสันสกฤต มีข้อความ 22 บรรทัด จารึกเมื่อมหาศักราช 943 ตรงกับพุทธศักราช 1564 เป็นข้อความการสรรเสริญพระศิวะในศาสนาพราหมณ์ ส่วนการจารึกครั้งที่สองเป็นการจารึกใหม่ในด้าน 3 ด้านที่เหลือเมื่อจุลศักราช 878 ตรงกับพุทธศักราช 2059 เป็นอักษรขอมภาษาไทยบาลีและเขมรเป็นข้อความเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและมีข้อความที่ให้ช่วยกันสืบสานพระพุทธศาสนาให้ได้ 5,000 ปี

สำหรับการนับระยะเวลาอายุของแท่งหินที่เป็นเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ ที่เริ่มตั้งแต่มีการแกะสลักโดยมนุษย์ตั้งแต่มีการสลักหินออกมาเป็นแท่งจนถึงในการจารึกตัวอักษรบนแท่งหินในครั้งแรก ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะใช้เวลายาวนานพอสมควร ไม่อาจกำหนดวันเดือนที่แน่นอนได้ จึงใช้การนับเวลาอายุแท่งศิลานี้แบบปีชนปี นั้นคือเมื่อมีการบันทึกว่ามีการแกะสลักครั้งแรก พ.ศ.1564 เมื่อระยะเวลาเวียนมาถึงพ.ศ.2563 ก็ครบวงรอบปีพอดี
ติดตามประมวลภาพส่วนหนึ่งได้ที่เว็บไซต์ facebook เว็บลิงค์ https://m.facebook.com/groups/www.phetchabun1.go.th/permalink/3592787127434290/

ติดตามคลิปการประกอบพิธีบวงสรวงทางพราหมณ์ ได้ที่นี่อีกทางหนึ่ง https://www.facebook.com/TSB.MuangPhetchabun/videos/304015247318218/

ฮิต: 214

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 1
126 หมู่ 11 ถ.สระบุรี-หล่มสัก ต.สะเดียง อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ 67000 
หมายเลขโทรศัพท์. 056-737080, 056-737081 , 056-737083 , 056-737085 , 056-737086
หมายเลขโทรสาร 056-737075  
E-Mail : admin@phetchabun1.go.th
แผนที่ตั้งหน่วยงาน