เมื่อวันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน 253 เวลา 09.00 น. ที่ หอประชุมศูนย์ราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สด หน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันพระบิดาแห่งฝนหลวง 14 พฤศจิกายน 2563 โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ และประชาชน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อนึ่ง คณะข้าราชการและลูกจ้าง สังกัด สพป.เพชรบูรณ์ เขต 1 จำนวน 10 ท่าน ได้ไปร่วมงานด้วย

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พุทธศักราช 2545 กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น "วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” เพื่อจารึกไว้เป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย และเป็นวันสำคัญของปวงชนชาวไทย ที่จะได้ร่วมกันแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบิดาแห่งฝนหลวง โดยในวันนี้ถือว่าเป็นวันครบรอบปีที่ 65 นับจากวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 ซึ่งเป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัส ที่จะคิดค้นวิจัยหาวิธีการทำฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชนที่ประสบภัยแล้งรวมทั้งปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรน้ำของประเทศ จนเกิดเป็นโครงการพระราชดำริฝนหลวงสืบมาจนปัจจุบัน

ความเป็นมาของวันที่ 14 พฤศจิกายน "วันพระบิดาแห่งฝนหลวง" นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น อันกอปรด้วยพระอัจฉริยภาพ พระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล พระราชอุตสาหะวิริยะและการที่ทรงสละเวลาส่วนพระองค์แม้ในยามดึกดื่นค่ำคืนอย่างเหน็ดเหนื่อยตรากตรำ พระวรกายมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน นับตั้งแต่ที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเยือนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 ทรงพบว่าราษฎรเดือดร้อนพืชผลเสียหายจากทั้งฝนแล้งและน้ำท่วม ทำให้ทรงเกิดแนวคิดในการแก้ปัญหาทุกข์ร้อนของราษฎรอย่างฉับพลันในขณะนั้นว่า ”สมควรที่จะสร้างฝายหรือเขื่อนขนาดเล็ก (Check dams) และอ่างเก็บน้ำจำนวนมากขวางทางน้ำ เพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงการไหลบ่า และเก็บกักน้ำไว้ในฤดูแล้งซึ่งเป็นการบรรเทาสภาวะแห้งแล้งได้ทางหนึ่ง” ที่สำคัญทรงเกิดประกายความคิดด้วยความมั่นพระทัยว่าน่าจะนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยให้เกิดฝนได้ และน่าจะมีวิธีการที่จะรวมเมฆที่กระจายอยู่ในท้องฟ้าแต่ลอยผ่านพื้นที่แห้งแล้งไปหมดดังที่ทรงสังเกตเห็น ในขณะนั้นให้เมฆเหล่านั้นรวมตัวกันเกิดเป็นฝนตกลงสู่พื้นที่แห้งแล้งดังกล่าวได้ อันเป็นเป็นต้นกำเนิดของแนวพระราชดำริที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนเป็น “โครงการพระราชดำริฝนหลวง” ในปัจจุบัน

ที่มาของโครงการพระราชดำริฝนหลวง นับแต่วันนั้นมา ทรงถ่ายทอดและพระราชทานแนวพระราชดำริแก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญและนักประดิษฐ์ด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ร่วมทำการศึกษาทบทวนเอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้อง และให้วิจัยและค้นคว้าหาลู่ทางที่จะทำให้แนวพระราชดำริมีความเป็นไปได้ตั้งแต่ พ.ศ.2498 เป็นต้นมา จนสามารถทำการค้นคว้าทดลองในท้องฟ้าได้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2512 ซึ่งประสบความสำเร็จตามข้อสมมติฐานที่ทรงคาดหมายไว้ สร้างความเชื่อมั่นในแนวพระราชดำริยิ่งขึ้น จึงได้มีการดำเนินการ ในรูปโครงการค้นคว้าทดลองทำฝนเทียมในปี 2513 โดยให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการมิ ใช่เพียงทรงก่อให้เกิดแนวพระราชดำริขึ้นมาเท่านั้น แต่ทรงร่วมในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และโปรดเกล้าฯ ให้นำเทคโนโลยีที่ทรงค้นพบ ไปประยุกต์ในการปฏิบัติการฝนหลวงหวังผล ด้วยพระองค์เองอย่างต่อเนื่องใกล้ชิตตลอดมา รวมทั้งทรงบัญชาการปฏิบัติการสาธิตเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี และทรงบัญชาการคณะปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษที่โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อเกิดภาวะแห้งแล้งรุนแรงจนเกินกำลังของคณะปฏิบัติการฝนหลวงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีอยู่อย่างจำกัด


ด้วยพระปรีชาสามารถ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง จึงก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนทรงสามารถสรุปขั้นตอนกรรมวิธีการดัดแปลงสภาพอากาศให้เกิดฝน คือ ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน และโจมตี พระราชทานให้ใช้เป็นเทคโนโลยีในการปฏิบัติการฝนหลวงแบบหวังผลตั้งแต่ พ.ศ.2516 เป็นต้นมา นับว่าจุดหมายขั้นตอนการวิจัยแล้ว แต่การพัฒนากรรมวิธียังมิได้สิ้นสุดหรือหยุดยั้งเพียงนั้น ยังทรงพัฒนาเทคนิคที่จะเสริมให้การปฏิบัติการในแต่ละขั้นตอนกรรมวิธีให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ สภาพอากาศประจำวันในแต่ละช่วงเวลา และฤดูกาลของแต่ละพื้นที่เป้าหมายปฏิบัติการที่แตกต่างกัน และให้สอดคล้องกับทรัพยากรสนับสนุนของแต่ละคณะปฏิบัติการ เช่น

เทคนิคที่โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า “เทคนิคการโจมตี เมฆอุ่นแบบ SANDWICH”

เทคนิคการชักนำกลุ่มเมฆฝนจากเทือกเขาสู่ที่ราบ การชักนำฝนจากพื้นที่ที่ไม่ต้องการฝนไปยังพื้นที่ที่ต้องการ

เทคนิคการใช้สารเคมีแบบสูตรสลับกลุ่มเมฆที่ก่อตัวในหุบเขาให้เกิดฝน เป็นต้น


เทคนิคดังกล่าวเป็นเทคนิคการทำฝนจากเมฆอุ่น ใช้ในการปฏิบัติการหวังผล ต่อเมื่อมีแต่เครื่องบินแบบไม่ปรับความดันให้ใช้ในการปฏิบัติการเท่านั้น เทคนิคเหล่านั้นยังคงใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

จนถึง พ.ศ.2542 ได้เกิดสภาวะแห้งแล้งรุนแรงในปี พ.ศ.2541 ต่อเนื่องมาจนถึงฤดูแล้งของปี พ.ศ.2542 ถึงขั้นเกิดภาวะวิกฤติต่อพื้นที่เกษตรกรรม ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อน สภาพสิ่งแวดล้อม (เช่น ไฟป่า น้ำเค็มขึ้นสูง เป็นต้น) และการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดส่งคณะปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง พ.ศ.2542 ในการปฏิบัติการนี้ นอกจากจะทรงฟื้นฟู ทบทวนเทคนิค และเทคโนโลยีฝนหลวงที่เคยใช้อย่างได้ผลมาแล้วในอดีตแล้ว ยังพระราชทานข้อแนะนำทางเทคนิคเพิ่มเติมรวมทั้งทรงพัฒนาเทคนิคการโจมตี โดยทรงนำผลการทดสอบเทคนิคการโจมตีเมฆเย็นที่สัมฤทธิผลอย่างน่าพอใจ มารวมกับเทคนิคการโจมตีเมฆอุ่นและโปรดเกล้าฯให้เรียกว่า “เทคนิคการโจมตี แบบ SUPER SANDWICH” อันเป็นนวัตกรรมใหม่ที่พระราชทานให้ใช้เป็น เทคโนโลยีฝนหลวงล่าสุด พระราชทานให้เริ่มใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง พ.ศ.2542 เป็นครั้งแรกอย่างได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถกอบกู้ภัยแล้งให้คืนสู่สภาวะปกติได้อย่างทันท่วงที จึงเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นอีกระดับหนึ่งและพระราชทานให้ใช้เป็น
“ตำราฝนหลวงพระราชทาน” ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2542 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ติดตามประมวลภาพส่วนหนึ่ง ได้ที่เว็บไซต์เฟสบุ้ค เว็บลิงค์ https://www.facebook.com/groups/www.phetchabun1.go.th/permalink/3585045998208403/ ·

ฮิต: 283

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 1
126 หมู่ 11 ถ.สระบุรี-หล่มสัก ต.สะเดียง อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ 67000 
หมายเลขโทรศัพท์. 056-737080, 056-737081 , 056-737083 , 056-737085 , 056-737086
หมายเลขโทรสาร 056-737075  
E-Mail : admin@phetchabun1.go.th
แผนที่ตั้งหน่วยงาน